วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การละหมาด

การละหมาด
  การละหมาด คือ คำอ่าน และการปฏิบัติที่เริ่มต้นด้วยกับการตักบีร และ

วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การตะยัมมุม


การตะยัมมุม
การตะยัมมุม คือ การใช้ฝุ่นดินที่สะอาดลูบที่ใบหน้า และแขนทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการทดแทนการอาบน้ำละหมาด หรือการอาบน้ำวายิบหรือทดแทนการล้างอวัยวะบางส่วน โดยมีเหนียต
ฮุก่มการตะยัมมุม
การตะยัมมุมถือเป็นวายิบ เมื่อขาดแคลนน้ำที่จะใช้อาบน้ำละหมาด หรือไม่มีความสามารถที่จะใช้น้ำ
เงื่อนไขที่จะทำการตะยัมมุมได้ มี 5 ประการ
1.หมดความสามารถจากการใช้น้ำด้วยเหตุที่เขาหาน้ำไม่ได้หรือเขามีน้ำแต่หมอสั่งห้ามว่าไม่ให้เขาโดนน้ำเพราะกลัวว่าอาการป่วยจะเพิ่มขึ้นหรือว่าเขามีน้ำเพียงเล็กน้อยและต้องการน้ำนั้นเก็บไว้ดื่ม
2.มั่นใจว่าเข้าเวลาละหมาด ดังนั้น การตะยำมุมก่อนเข้าเวลาถือว่าไม่เซาะห์
3.ค้นหาน้ำหลังจากเข้าเวลาละหมาดแล้ว
4.มีอุปสรรคในการใช้น้ำ เช่น กลัวสัตว์ดุร้ายจะมาทำร้ายในระหว่างทางที่ไปเอาน้ำมา
5.ต้องเป็นฝุ่นดินที่สะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนเช่น ดินมุสตะมั้ล[1] น่ายิส เป็นต้น
ฟัรดูของการตะยำมุม มี 5 ประการ
1.ต้องมีการย้ายดินไปยังอวัยวะที่จะทำการลูบดิน [2]
2.ต้องมีการเหนียติ คือเหนียติขออนุญาตทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำต้อฮาเราะห์เช่นเหนียติว่า
نَوَيْتُ التَّيَمُّمَ لِاسْتِبَاحَةِ الصَّلاَةِ لِلهِ تَعَالَى
ข้าพเจ้าทำการตะยำมุมเพื่อขออนุญาตละหมาดฟัรดู เพื่ออัลลอฮฺต้าอาลา
3.4.เอาดินลูบที่ใบหน้าและแขนทั้งสองข้างด้วยกับการเอาดินมา 2 ครั้ง
5.เรียงลำดับในการเช็ดใบหน้าและแขนทั้งสอง
สุนัตต่างๆของการตะยำมุม
1.กล่าว บิ้สมิ้ลลาฮิรเราะห์มานิรร่อฮีม ขณะเริ่มตะยำมุม
2.เช็ดด้านบนของใบหน้าก่อนด้านล่าง
3.เช็ดแขนขวาก่อนแขนซ้าย
4.ทำตะยำมุมอย่างต่อเนื่องกัน
5.กางนิ้วออกขณะเอามือตบไปที่ดิน
6.หันหน้าไปทางกิบละห์
7.อ่านดุอาหลังจากตะยำมุม[3]
เหตุที่ทำให้เสียตะยำมุมมี 3 ประการ
1.ทุกสิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาดก็ทำให้เสียตะยำมุมด้วย
2.พบเจอน้ำในกรณีที่ยังไม่ได้เข้าสู่การละหมาดสำหรับผู้ที่ตะยัมมุมเนื่องจากขาดแคลนน้ำ[4]
3.ริดดะห์ คือการสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม

วิธีการต้ายำมุม
1.ให้อ่าน  “บิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรร่อฮีม”  ในขณะที่เอาฝ่ามือทั้งสองตบไปบนฝุ่นที่สะอาด
2.ให้เหนียต  ขณะเคลื่อนฝุ่นมาจะลูบหน้า  โดยอ่านคำนำว่า
نَوَيْتُ التَّيَمُّمَ لاِسْتِبَاحَةِ الصَّلاَةِ للهِ تَعَالَى
เหนียตว่า  “ข้าพเจ้าต้ายำมุมเพื่อขออนุญาติให้ทำละหมาด ฟัรดูลิ้ลลาฮิตะอาลา”  ลูบให้ทั่วเขตหน้า  แล้วปัดฝุ่นที่ติดมือทิ้ง
3.เอามือทั้งสองตบฝุ่น  เพื่อเอามาลูบแขนทั้งสองข้าง
4.เอาดินฝุ่นลูบแขนขวาด้วยมือซ้าย  จากปลายนิ้วหลังมือขวาจนถึงข้อศอก  แล้วเลื่อนไปตามท้องแขนจนถึงหัวแม่มือ  และให้ลูบแขนซ้ายในทำนองเดียวกัน
หมายเหตุ  การเหนียตต้ายำมุมเพื่อทำฟัรดูครั้งหนึ่งๆ  จะทำได้หนึ่งฟัรดูเท่านั้น  แต่ยอมให้ทำสุนัตต่างๆละหมาดญ่านาซะห์ และจับคัมภีร์กุรอานได้ด้วย


[1] คือดินที่ใช้ตะยำมุมไปแล้ว
[2] ดังนั้นหากเขายืนในที่ๆมีลมพัดฝุ่นดินมาแล้วเขาก็เหนียติทำการตะยำมุมเนื่องจากฝุ่นดินนั้นมันได้มากระทบตัวเขา ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีการย้ายดินด้วยกับมือของเขา
[3] เหมือนกับดุอาหลังอาบน้ำละหมาด
[4] หากเขาตะยัมมุมเพราะอาการป่วย ก็ไม่เสียตะยัมมุมด้วยเหตุที่เขาพบเจอน้ำ 

การอาบน้ำสุนัต


การอาบน้ำที่เป็นสุนัตมีหลายประการ เช่น
1.การอาบน้ำวันศุกร์ สุนัตให้อาบเฉพาะบุคคลที่จะไปละหมาดวันศุกร์ มีกำหนดเวลาตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนถึงเวลาเข้าทำละหมาด เวลาที่ดียิ่งนั้นให้อาบใกล้เวลาที่จะไป
         ให้เหนียตว่า ข้าพเจ้าอาบน้ำเพื่อไปละหมาดวันศุกร์ซึ่งเป็นสุนัต เพื่ออัลลอฮ์ตะอาลา
2.อาบน้ำในวันตรุษฟิตร์และตรุษอัฎฮา  คือสุนัตให้อาบน้ำในวันตรุษทั้งสองแก่ทุกๆคน ทั้งผู้ประสงค์จะไปหรือไม่ไปละหมาดไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย มีกำหนดเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนของวันตรุษ จนกระทั่งตะวันตกในวันตรุษ เวลาที่ดียิ่งนั้น ให้อาบหลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว
         ให้เหนียตว่า ข้าพเจ้าอาบน้ำวันตรุษฟิตร์(ตรุษอัฎฮา) ซึ่งเป็นสุนัตเพื่ออัลลออ์ตะอาลา
3.อาบน้ำเนื่องจากอาบน้ำศพ  คือสุนัตให้ผู้ที่อาบน้ำศพนั้น  อาบน้ำหลังจากที่ตนได้อาบน้ำให้แก่ศพเรียบร้อยแล้ว
         ให้เหนียตว่า  ข้าพเจ้าอาบน้ำเนื่องจากอาบน้ำศพ ซึ่งเป็นสุนัต  ลิ้ลลาฮิตะอาลา
4. อาบน้ำเพื่อจะทำการเอี๊ยะห์รอมฮัจย์  หรืออุมเราะฮ์หรือฮัจย์และอุมเราะฮ์  สุนัตให้อาบน้ำ  สำหรับผู้ที่จะทำเอี๊ยะห์รอมดังกล่าวนั้นนั้น  มีกำหนดเวลาตั้งแต่ประสงค์จะเอี๊ยะห์รอมจนกระทั่งเข้าพิธีเอี๊ยะห์รอม
ให้เหนียตว่า  ข้าพเจ้าอาบน้ำเพื่อเอี๊ยะห์รอมฮัจย์(อุมเราะห์) ซึ่งเป็นสุนัต  ลิ้ลลาฮิตะอาลา
5. การอาบน้ำในคืนจันทรคราส  และวันสุริยคราส  สุนัตให้อาบน้ำในคืนจันทรคราส  และวันสุริยคราสแก่บุคคลทุกคน
ให้เหนียตว่า  ข้าพเจ้าอาบน้ำเพราะจันทรคราส ( สุริยคราส) ซึ่งเป็นสุนัต  ลิ้ลลาฮิตะอาลา
วิธีการอาบน้ำสุนัต
ให้อาบน้ำ  เหมือนวิธีการอาบน้ำวายิบทุกประการ  แต่ต่างกันที่การเหนียตเท่านั้น

การอาบน้ำวายิบ


การอาบน้ำวายิบ
เหตุที่ทำให้วายิบต้องอาบน้ำมี 6 กรณี
1. การร่วมประเวณีระหว่าง ชาย  หญิง จะมีอสุจิเคลื่อนออกมาหรือไม่ก็ตาม  หากล่วงล้ำ  ฮัซฟะฮ์”  หรือโดยประมาณสำหรับผู้ที่ไม่มีฮัซฟะฮ์  เรียกว่ายู่นุบ
2. อสุจิเคลื่อนออกมา  ด้วยการกระทำของบุคคล หรือการฝัน  หรืออื่นใดก็ตาม  เรียกว่ายู่นุบ
3. การตาย  นอกจากการตายชะฮีด[1]
4. เลือดประจำเดือน  (เฮด)  คือเลือดระดูที่ออกจากหญิงที่มีอายุตั้งแต่  9  ขวบขึ้นไปโดยประมาณ  ในขณะที่ร่างกายปกติ
ระยะเวลาของการมีเลือดประจำเดือน  ดังนี้
1.        อย่างน้อยวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง (24  ชั่วโมง)
2.        อย่างธรรมดา  6  วัน  6  คืน  หรือ  7  วัน  7  คืน
3.        อย่างมาก  15  วัน  15  คืน
หากมีมาไม่ถึง  24  ชั่วโมง  หรือมีมากกว่า  15  วัน  15  คืน  ไม่เรียกว่าเลือดประจำเดือน  เรียกว่าเลือดเสีย  (อิสติฮาเดาะฮ์)  ให้อาบน้ำเฮดก่อน  ต่อไปก็ให้ทำความสะอาด  และป้องกันไม่ให้ออกมา  แล้วปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ
5.เลือดนิฟาส  คือ เลือดที่ออกหลังจากการคลอดบุตร
 ระยะเวลาของการมีเลือดนิฟาสดังนี้
1.        อย่างน้อยชั่วพริบตาเดียว  หรือโลหิตหนึ่งหยด
2.        อย่างธรรมดา  40  วัน  40  คืน
3.        อย่างมาก  60  วัน  60  คืน
การมีเลือดตามข้อ  1,2  และ  3 นั้น  ต้องมีในระหว่าง  15  วันนับจากวันคลอด ถ้าหากมีภายหลังจาก 15 วันแล้วไม่เรียกว่านิฟาส  แต่เรียกว่า  “เฮด”  ซึ่งอยู่ในกำหนดเวลาของเฮด
6.การคลอดบุตร  (วิลาดะฮ์)  การคลอดนั้นจะมีโลหิตออกมาด้วยหรือไม่ก็ตาม  ต้องวายิบอาบน้ำเช่นเดียวกัน
ฟัรดูของการอาบน้ำวายิบมี 3 ประการ
1. เหนียต คือการนึกมุ่งต่อการอาบน้ำวายิบพร้อมทั้งลงมืออาบ กล่าวคือจะต้องเหนียต ในขณะที่น้ำถูกส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย  สุนัตให้อ่านคำนำเหนียตดังนี้
نَوَيْتُ رَفْعَ الْحَدَثِ الاَكْبَرِ عَنْ جَمِيْعِ الْبَدَنِ فَرْضًا عَلَيَّ للهِ تَعَالَى
ข้าพเจ้ายกฮาดัสใหญ่ทั่วร่างกายเป็นฟัรดูเหนือข้าพเจ้าเพื่ออัลลอฮ์ ตะอาลา
2. ขจัดน่ายิสอัยนี[2] ออกจากร่างกายให้หมดก่อนที่จะลงมืออาบน้ำวายิบ  ส่วนน่ายิสฮุกมี[3] ไม่วายิบต้องขจัดออกจากร่างกายก่อนที่จะอาบน้ำ แต่ว่าการราดน้ำเพื่อที่จะอาบน้ำวายิบนั้นมันจะขจัดน่ายิสฮุกมีไปด้วยพร้อมๆกัน
3. ล้างน้ำให้ทั่วทั้งร่างกายทั้งผม ขนทุกเส้น และผิวหนังภายนอก[4]
สุนัตของการอาบน้ำวายิบ
1. กล่าว บิ้สมิ้ลลาฮิ้รเราะห์มานิรร่อฮีม ตอนเริ่มอาบน้ำวายิบ
2. อาบน้ำละหมาดก่อนอาบน้ำวายิบ
3.เอามือถูตามร่างกายในส่วนที่มือสามารถถูไปถึง
4.อาบน้ำวายิบอย่างต่อเนื่อง
5.อาบซีกขวาของร่างกายก่อนซีกซ้าย
6. สางผม และขน
7.หันไปทางกิบละห์ในขณะที่อาบน้ำวายิบ
ข้อห้ามสำหรับผู้ที่มียุนุบมี  5  ประการ
1.ห้ามละหมาดฟัรดูหรือสุนัต
2.ห้ามต้อวาฟบัยตุ้ลลอฮ์ทั้งฟัรดูหรือสุนัต
3.ห้ามจับ  กระ  ทูน  ถือ  พระมาหาคัมภีร์อัลกุรอาน  เว้นแต่ในกรณีคับขัน  เช่น  ตกอยู่ที่น่ายิสทางเดิน  ไฟจะไหม้  หรือสถานที่อันไม่สมควร  เป็นต้น
4.ห้ามอ่านพระมหาคัมภีร์อะลกุรอาน  ทั้งค่อยหรือดัง
5.ห้ามเข้าไปหยุดพักในมัสยิดด้วยกรณีดังต่อไปนี้
    ก. หยุดพักครู่หนึ่ง
    ข.เข้าไปแล้วย้อนกลับทางเก่า
    ค.เข้าไปแล้วเดินวนเวียนอยู่  ทั้ง  3  ข้อนี้  หากไม่มีความจำเป็น
ข้อห้ามสำหรับหญิงที่มีเฮด, นิฟาส, หรือวิลาดะฮ์  มี  8  ประการ
1.ห้ามละหมาดทั้งฟัรดู  หรือสุนัต
2.ห้ามถือศีลอดทั้งฟัรดู หรือสุนัต
3.ห้ามต้อวาฟบัยตุ้ลลอฮ์ทั้งฟัรดู หรือสุนัต
4.ห้ามจับ  กระทบ  ทูน ถือ  พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน  เว้นแต่ในกรณีคับขัน  เช่น  ตกอยู่ที่น่ายิส  ทางเดิน  ไฟจะไหม้  หรือสถานที่อันไม่สมควร  เป็นต้น
5.ห้ามอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งค่อยหรือดัง
6.ห้ามเข้าไปในมัสยิด  (เกรงว่าโลหิตจะหยด  หากป้องกันไว้ ไม่ให้หยดได้  การเข้าไปในมัสยิด เป็นแต่เพียงมักโระฮ์เท่านั้น ส่วนการหยุดพักนั้นห้ามเด็ดขาด)
7.ห้ามร่วมประเวณี
8.ห้ามสามี  ภรรยาหยอกเย้ากัน  ระหว่างสะดือถึงหัวเข่า


[1] ชะฮีด คือ ผู้ที่ตายในสมรภูมิรบกับเหล่ากาเฟร โดยเป็นการรบเพื่อเชิดชูศาสนาให้สูงส่ง
[2] น่ายิสอัยนีคือ น่ายิสที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
[3] คือน่ายิสที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา
[4] ผิวหนังภายนอกหมายถึง ส่วนที่เผยออกมาภายนอกในอิริยาบถต่างๆ ควรระวังตามกลีบใบหู รอยพับตามร่างกาย รอยแตก อวัยวะเพศที่เผยออกมาในตอนนั่งยองๆ ในตอนขับถ่าย และรูทวารหนัก เป็นต้น ฉะนั้นเวลาอาบน้ำวายิบจึงต้องมีการนั่งยองๆด้วย

การอาบน้ำละหมาด


การอาบน้ำละหมาด
การอาบน้ำละหมาดแปลตามศัพท์ศาสนา หมายถึง การใช้น้ำในอวัยวะที่ถูกเจาะจงไว้ โดยเริ่มจากการเหนียต
     การอาบน้ำละหมาดได้ถูกวางบทบัญญัติมาในค่ำคืนอิสเราะ เมียะอฺรอจญ์พร้อมกับการละหมาด ก่อนที่ท่าน นบีจะอพยพ ในช่วงแรกการอาบน้ำละหมาดถือเป็นวายิบเมื่อจะทำละหมาดทุกๆครั้ง ต่อมาฮุก่มดังกล่าวได้ถูกยกเลิกกลายเป็นวายิบจะต้องอาบน้ำละหมาดเมื่อมีฮะดัส
เงื่อนไขของการอาบน้ำละหมาด
1.จะต้องเป็นมุสลิม
2.จะต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว
3.จะต้องรู้วิธีการอาบน้ำละหมาด
4.จะต้องมั่นใจว่ามีฮะดัส
5.น้ำจะต้องเป็นน้ำมุตลัก
6.ต้องไม่มีสิ่งที่มากันน้ำกับอวัยวะที่อาบน้ำละหมาด เช่น ขี้เล็บ พลาสเตอร์แปะแผล เป็นต้น
7.ต้องไม่มีสิ่งที่มาห้ามการอาบน้ำละหมาด เช่นเฮด เป็นต้น

เงื่อนไขที่เพิ่มมาสำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็น
     สำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็น เช่น ผู้ที่มีปัสสาวะกระปริดกระปรอย หรือ ผู้ที่มีเลือดอิสติฮาเดาะห์ เป็นต้น การอาบน้ำละหมาดของเขาจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มมาอีก 3 ข้อ คือ
1.จะต้องเข้าเวลาละหมาดก่อน
2.จะต้องขจัดนะยิสที่ออกมา ได้แก่ปัสสาวะและเลือดให้หมดและต้องป้องกันไม่ให้ไหลออกมาอีกด้วยกับสำลีหรือผ้าอนามัยก็ใช้ได้
3.จะต้องต่อเนื่องกันระหว่างการขจัดนะยิสและการอาบน้ำละหมาด และการอาบน้ำละหมาดต้องต่อเนื่องกันหลังจากนั้น ให้รีบละหมาดทันที [1]
ฟัรดูของการอาบน้ำละหมาดมี 6 ประการ
1.เหนียต[2] คือการมุ่งทำสิ่งหนึ่งพร้อมทั้งลงมือทำสิ่งนั้น ให้เหนียติอาบน้ำละหมาดตอนที่น้ำถูกส่วนหนึ่งส่วนใดของใบหน้า และมีสุนัตให้กล่าวคำนำเหนียติดังนี้
نَوَيْتُ الْوُضُوْءَ فَرْضًا عَلَيَّ للهِ تَعَالَى
ให้เหนียตว่า ข้าพเจ้าอาบน้ำละหมาดซึ่งเป็นฟัรดูเหนือข้าพเจ้าเพื่ออัลลอฮ์ตะอาลา
2.ล้างใบหน้าให้ทั่วเขตของใบหน้า เขตของใบหน้าก็คือตั้งแต่ชายผมที่หน้าผากจนถึงใต้คางและช่วงระหว่างติ่งหูทั้งสองข้าง   และ ถ้าหากมีขนในเขตใบหน้า วายิบต้องล้างขนดังกล่าวจนถึงผิวหนังใต้ขนนั้น
    ส่วนเคราของผู้ชายที่หนา[3] และขนที่แก้มที่หนา ให้ล้างแต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่างกันกับเคราของผู้หญิงถึงแม้ว่ามันจะหนาก็ตาม วายิบต้องล้างเข้าไปถึงผิงหนังใต้เครานั้น[4]
    วายิบจะต้องล้างผิวหนังที่อยูใกล้บริเวณใบหน้า เช่น ที่ชายผม ที่ใต้คาง ที่ลำคอข้างใบหน้าเป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าการล้างใบหน้านั้นทั่วจริงๆ
3.ล้างแขนทั้งสองข้างพร้อมทั้งข้อศอก หากเขาไม่มีข้อศอก ก็ให้พิจารณาล้างเขตที่น่าจะเป็นข้อศอกโดยเปรียบเทียบกับคนปกติที่รูปร่างใกล้เคียงกับเขา
    วายิบต้องล้างขน และก้อนเนื้อที่งอกออกมาจากแขนของเขา และวายิบล้างเล็บจนถึงส่วนที่อยู่ใต้เล็บ และนิ้วมือที่เกินมา หากใต้เล็บมีขี้ไคล ก็วายิบต้องเอาออกให้หมด
4.เช็ดบางส่วนของศีรษะ หรือเช็ดบางส่วนของผมที่อยู่ในเขตศีรษะเมื่อดึงผมลงมาด้านล่าง ไม่ว่าหญิงหรือชาย หากเขาใช้การล้างแทนการเช็ดก็ถือว่าใช้ได้[5]
5.ล้างเท้าทั้งสองข้างพร้อมทั้งตาตุ่มทั้งสอง และวายิบต้องล้างขน เนื้อที่งอกออกมาจากเท้า หรือนิ้วเท้าที่เกินมา และถ้าหากเท้าของเขาไม่มีตาตุ่ม ก็ให้พิจารณาล้างเขตที่น่าจะเป็นตาตุ่มโดยเทียบกับคนที่รูปร่างใกล้เคียงกับเขา
6. เรียงตามลำดับตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อห้า
สุนัตต่างของการอาบน้ำละหมาด
1.กล่าว “อะอูซุบิ้ลลาฮิมินัชชัยตอนิ้รร่อญีม บิ้ลมิ้ลลาฮิ้รเราะห์มานิ้รร่อฮีม” ในตอนเริ่มอาบน้ำละหมาด คือกล่าวในขณะล้างมือทั้งสองข้าง
2.ล้างมือทั้งสองจนถึงข้อมือ ก่อนที่จะบ้วนปาก หากล้างมือหลังจากบ้วนปากไปแล้ว ถือว่าไม่ได้สุนัตของการล้างมือ
3.บ้วนปากหลังจากล้างมือทั้งสอง
4.สูดน้ำเข้าจมูกหลังจากบ้วนปาก
5.เช็ดให้ทั่วศีรษะ[6]
6.เช็ดใบหูทั้งสองข้าง ทั้งภายนอกและ ภายใน ด้วยกับน้ำใหม่ที่ไม่ใช่รอยเปียกจากการเช็ดศีรษะ วิธีการเช็ด ให้เอานิ้วชี้แหย่เข้าไปในรูหู แล้ววนนิ้วชี้ตามกลีบหูให้ทั่ว แล้วลากนิ้วหัวแม่มือที่ใบหูด้านนอก หลังจากนั้นให้เอามือทั้งสองข้างประกบที่หูทั้งสอง เพื่อให้การเช็ดหูนั้นทั่วถึง
7.ใช้นิ้วมือสางเคราที่หนาของผู้ชาย วิธีที่ดีที่สุด ให้สางเคราจากทางด้านล่าง
8.สางนิ้วมือและนิ้วเท้า สำหรับนิ้วที่น้ำสามารถเข้าได้โดยไม่ต้องสาง แต่หากน้ำไม่สามารถเข้าถึงได้ วายิบต้องสาง
       วิธีการสาง ให้สางนิ้วมือทั้งสองโดยเอามือซ้ายทับลงบนหลังมือขวา แล้วเอานิ้วมือซ้ายสางในซอกนิ้วหลังมือขวา แล้วสลับกันและสางนิ้วเท้าทั้งสองโดยเอานิ้วก้อยมือซ้ายสอดเข้าช่องนิ้วก้อยเท้าขวา  แล้วดึงขึ้นเรียงตามลำดับจนถึงช่องนิ้วก้อยเท้าซ้าย
9.ให้ล้างข้างขวาก่อนข้างซ้าย สำหรับอวัยวะที่ต้องล้างทีละข้าง
10.ล้างและเช็ดอย่างละ สามครั้ง
11.ทำน้ำละหมาดแบบต่อเนื่อง กล่าวคือ การล้างหรือเช็ดแต่ละอวัยวะจะต้องต่อเนื่องกัน ไม่ทิ้งช่วงกันนาน โดยที่อวัยวะที่ถูกล้างแล้วจะต้องยังไม่แห้ง ก่อนที่จะล้างอวัยวะถัดไป
12.ล้างให้เกินเขตใบหน้าและแขน ขา[7]
13.การถูอวัยวะต่างๆในตอนที่ล้าง
14.อย่าพูดคุย หากไม่มีเหตุจำเป็นในขณะที่กำลังอาบน้ำละหมาดอยู่
15.อย่าซับน้ำออกจากอวัยวะที่อาบน้ำละหมาด
16.ให้ละหมาด 2 ร่อกาอัตหลังจากอาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว[8]
17.เมื่ออาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว  ให้ผินหน้าไปทางกิบละห์พร้อมยกมือขึ้นดุอา  ดังต่อไปนี้ :-
اَشْهَدُ اَنْ لاَّ اِلَهَ اِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَشَرِيْكَ لَهُ / وَاَشْهَدُ اَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ / اَللَّهُمَّ اجْعَلْنِيْ مِنَ التَّوَّابِيْنَ/ وَاجْعَلْنِيْ مِنَ اْلمُتَطَهِّرِيْنَ/ وَاجْعَلْنِيْ مِنْ عِبَادِكَ الصَّالِحِيْنَ/ سُبْحَانَكَ اللَّهُمَّ وَبِحَمْدِكَ/ اَشْهَدُ اَنْ لاَّ اِلَهَ اِلاَّ اَنْتَ/ اَسْتَغْفِرُكَ وَاَتُوْبُ اِلَيْكَ / وَصَلَّى اللهُ عَلَى سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ /وَعَلَى اَلِهِ وَصَحْبِهِ وَسَلَّمَ / وَالْحَمْدُللهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ.
ประการต่างๆที่มักโระห์ในการอาบน้ำละหมาด
1.ใช้น้ำอาบน้ำละหมาดอย่างฟุ่มเฟือย
2.ทำข้างซ้ายก่อนข้างขวา
3.ทำเกิน 3 ครั้ง
4.ขอความช่วยเหลือผู้อื่นให้มาล้างอวัยวะให้โดยไม่มีเหตุจำเป็น
5.บ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกลึกเกินไปสำหรับผู้ที่ถือศีลอด
เหตุที่ทำให้เสียน้ำละหมาด มี 5 ประการ
1.มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมาจากทวารหนักหรือทวารเบา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ออกมาตามปกติ หรือไม่ปกติก็ตาม เช่น ปัสสาวะ เลือด เป็นต้น หรือไม่ว่าสิ่งที่ออกมาจะเป็นน่ายิสหรือไม่ก็ตาม เช่นพยาธิ เป็นต้น ยกเว้น น้ำอสุจิที่ออกมาโดยไม่มีการสัมผัสฝ่ามือกับอวัยวะเพศ
2.นอนหลับโดยก้นไม่แนบชิดกับพื้นที่ตนนั่ง เช่นนอนตะแคง นอนหงาย เป็นต้น
3.หมดสติด้วยเหตุเป็นลม เป็นบ้า ป่วย หรือเมา
4.การกระทบกันระหว่างชาย หญิง ด้วยกับผิวหนังโดยไม่มีของกั้น ซึ่งชายหญิงนั้นซาเราะอฺยอมให้แต่งงานกันได้  และมีความรู้สึกทางเพศแล้วทั้งคู่ [9]
5.กระทบทวารหนักหรือทวารเบา  ของตนเองหรือคนอื่น  คนเป็นหรือคนตาย  จะติดอยู่ที่ร่างกายหรือจากไปแล้วก็ตาม  ด้วยฝ่ามือโดยปราศจากของกั้น
ข้อห้ามสำหรับผู้ไม่มีน้ำละหมาดมี  3  ประการ
1.ห้ามละหมาดทั้งฟัรดูและสุนัต
2.ห้ามตอว้าฟ ทั้งฟัรดูและสุนัต
3.ห้ามจับ กระทบ  ทูน  ถือ  พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน  เว้นแต่ในกรณีคับขัน  เช่น  ตกอยู่ที่น่ายิสทางเดิน  ไฟจะไหม้ หรือสถานที่อันไม่สมควร  เป็นต้น[10]


[1] หมายเหตุ ทั้ง 3 ข้อนี้ จะต้องปฏิบัติทุกครั้งที่จะละหมาดฟัรดู
[2] การเหนียตินั้นวายิบในทุกๆอิบาดะห์ ยกเว้นการอาบน้ำมัยยิต ไม่ต้องมีเหนียติก็ได้
[3] หมายถึงเคราที่ผู้ที่อยู่ต่อหน้าเขาไม่สามารถเห็นผิงหนังใต้เครานั้นได้
[4] เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงจะไม่มีเครา
[5] เพราะถือว่าการล้างนั้นมันทั่งถึงกว่าการเช็ด
[6] ส่วนการเช็ดบางส่วนของศีรษะนั้นเป็นวายิบ
[7] ส่วนที่ล้างเกินมานั้นจะเป็นรัศมีในวันกิยามะห์ในตอนที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากหลุมกุโบร์
[8] โดยให้เหนียตว่า “ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตหลังจากอาบน้ำละหมาด เพื่ออัลลอฮ์ตะอาลา” แล้วละหมาด 2 ร่อกาอัตเหมือนละหมาดทั่วไป
[9] ส่วนการกระทบที่ไม่เสียน้ำละหมาด  คือผู้ที่ฮ่ารอมนิกาห์  1.พ่อแม่  ลูกของลูก  ถัดๆ  ขึ้นหรือถัดๆ  ลงไป     2.พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน  หรือร่วมพ่อ หรือร่วมแม่เดียวกัน       3.ลูกของพี่น้อง  หรือลูกของลูกพี่น้อง  ถัด ๆ ไป          4.พี่น้องของพ่อหรือของแม่           5.แม่ยายกับลูกเขย  พ่อผัวกับลูกสะใภ้       6.ลูกเลี้ยง  หรือลูกของลูกเลี้ยง ถัดๆ ไป            7.ผู้ที่ดื่มนมร่วมกัน
[10] ส่วนการที่เด็กที่รู้เดียงสาที่ไม่มีน้ำละหมาดได้กระทบกุรอ่านในตอนที่เรียนกุรอ่านถือว่าอนุญาต